มันเป็นการ “crack” ประสบการณ์จากการลองผิดลองถูกในระดับมนุษยชาติ ออกมาเป็นขั้นตอนและวิธีการ ทำอย่างไรที่มนุษย์จะกลั้นหายใจใต้น้ำได้เป็นระยะเวลานาน ทำอย่างไรจะลงไปลึกได้มากขึ้น จนสรุปสิ่งที่ควรรู้เพื่อความปลอดภัย ออกมาเป็นหลักสูตรได้ สรุปขั้นตอนการฝึกฝน จนสามารถให้คน ทำซ้ำเพื่อยกเพดานขีดจำกัดไปทีละขั้น ๆ ได้
.
เพดาน “ขีดจำกัด” ของคนเรา มันไม่ได้เป็นแบบนั้นตายตัวครับ
เราสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้จากการฝึกฝนครับ เช่น
Day 1 – กลั้นหายใจได้นานสุด 1.30 นาที
Day 2 – 1.35 นาที
Day 3 – 1.40 นาที
.
.
.
Day 20 – 3 นาที
Day 60 – 5 นาที
เราพัฒนาได้จากการฝึกฝนจริง ๆ นะ บางคนคิดว่านี่ยกตัวอย่างสมมติให้ดูใช่ไหม เปล่าเลย คนธรรมดาก็ทำได้ครับ ตอน Tom Cruise ฝึกกลั้นหายใจเพื่อถ่ายทำ Mission Impossible — Rogue Nation เค้าทำได้ที่ 6 นาทีครึ่งจ้าาาา
.
ในคอร์สมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับร่างกายเราให้ศึกษาเยอะมาก เป็นสิ่งที่มนุษย์คนอื่นศึกษา ทดลอง และสรุปผลจากความผิดพลาด ที่บางครั้งความผิดพลาดนั้นก็ถึงชีวิต เก็บสะสมมาหลายสิบปี จนสามารถกลั่นออกมาเป็นหลักสูตรให้มวลมนุษยชาติเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนของโลก
.
ถ้าผมจะเทียบราคาค่าคอร์สที่ต้องจ่าย กับ การรวบรวมประสบการณ์ตลอดหลายสิบปีจาก Freediver ทั่วทุกมุมโลก แล้วสรุปเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ ให้เราเรียนรู้โดยใช้ในเวลาเพียงสองวัน
บวกกับ โอกาสใหม่ ๆ หลังจากที่เราได้ทักษะดำน้ำตัวเปล่ามา ชีวิตหลังจากนี้ หน้าตามันจะเป็นอย่างไร? ในเมื่อผมมีทางเลือกมากขึ้นที่จะ explore โลกนี้ ด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไปได้ โลกใต้ทะเลในสายตาฟรีไดฟ์เวอร์ ที่มีแค่ตัวเปล่า ๆ กับหนึ่งลมหายใจ จะมอบประสบการณ์ที่แตกต่างจาก Scuba ที่ต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจอย่างไร? และผมจะ crack ศักยภาพที่แท้จริงของตัวเราออกมาได้อีกขนาดไหน?
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ถ้าผมสามารถแลกมาได้ด้วยเงินไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท

ก่อนจะเริ่มเรียน
ผมได้เรียนรู้บางอย่างตั้งแต่ครูพลอยยังไม่ได้เริ่มอารัมภบทด้วยซ้ำ เอกสารฉบับแรกที่เราต้องเซ็นชื่อยอมรับ ก่อนการเรียนการสอนจะเริ่มก็คือ Release of Liability เพื่อยินยอมรับความเสี่ยงทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเรา และจะไม่กล่าวโทษครูผู้สอน หรือสถาบัน PADI ในภายหลัง
.
เอกสารฉบับนี้ทำให้ผมได้ตระหนักรับรู้ว่า
“เราเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตของเราเอง 100%”
.
Freediving เป็นกีฬาที่มีความเสี่ยง สิ่งที่เราทำได้คือ เรียนรู้ พฤติกรรมไหน ก่อให้เกิดผลกระทบแบบใด ศึกษาให้ครอบคลุมสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด ยิ่งรู้มาก ความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายก็ยิ่งลดลง เราจะควบคุมความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด แล้ว enjoy สิ่งที่อยู่อีกฟากของความเสี่ยงให้ได้
.
แต่ไม่ว่าเราจะศึกษามาดีแค่ไหน ความเสี่ยงก็ไม่เคยลดลงจนเท่ากับศูนย์ ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมากับเรา ไม่ว่าจะบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ไม่ต้องไปโทษสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องไปโทษครูหรือสถาบันใด มันชีวิตของเรา เราเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นเอง เราตัดสินใจที่จะทำสิ่งนี้เอง เราควรกล้าหาญพอที่จะยืดอกยอมรับทั้งด้านดีและไม่ดีของชีวิต ผมนั่งเซ็นเอกสารไป ก็รับรู้ถึงสิ่งนี้ไป ในใจก็ย้อนกลับไปนึกถึงหลายครั้งในชีวิต ที่เราไม่ได้กล้าหาญพอจะลุกขึ้นมารับผิดชอบชีวิตตัวเอง ไปทำงานสายก็โทษรถติด ขายงานไม่ได้ก็โทษปัจจัยภายนอกสารพัด แต่ไม่เคยยอมรับว่าตัวเองห่วยยังไง การเซ็นเอกสารนี้ ทำให้ผมชัดเจนว่า ผมเลือกที่จะเล่นกีฬานี้เอง และรับผิดชอบความปลอดภัยของตัวผมเองร้อยเปอร์เซ็นต์
ห้ามใช้ Hyperventilation เด็ดขาด ถ้าไม่อยากตายไม่รู้ตัว
ฝึก Static Apnea ในสระครั้งแรก ก็สัมผัสได้ถึงความกลัว (Fear)
พอเรียนภาคทฤษฎีกันในห้องพอหอมปากหอมคอ ครูพลอยก็เริ่มเปิดวีดีโอ Freediving ต่าง ๆ ให้ดู มีอันนึงที่ผมเคยดูแล้วชอบมากคือ OCEAN GRAVITY เพราะผมชอบปล่อยตัวให้ไหลไปกับกระแสน้ำเองโดยไม่ต้องตีฟิน (drift dive) อยู่แล้ว ดูคลิปนี้แล้วจึงรู้สึกเบา สบาย อิสระ และอยากถ่ายแบบนี้เป็นของตัวเองบ้าง
.
แต่สุดท้าย คลิปนี้กลับเป็นต้นเหตุทำให้ผมได้เรียนรู้บางอย่างในระดับประสบการณ์ ระหว่างทำ Static Apnea (คว่ำหน้ากลั้นหายใจนิ่ง ๆ บนผิวน้ำ) กันเลยทีเดียว ดูคลิปก่อนเพื่อให้เห็นภาพ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังต่อ
ในระหว่างฝึกกลั้นหายใจ ผมก็จินตนาการว่าตัวเองอยู่ใต้ทะเล และกำลังลอยล่องไปกับกระแสน้ำ แบบในคลิปนี้แหละครับ แล้วพอสมาธิมันได้ จิตผมก็หลุดเข้าไปอีกมิตินึง ราวกับว่าผมอยู่ใต้ทะเลจริง ๆ มันเริ่มรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกน้ำเย็นขึ้น มันสบาย มันอยากจะอยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ และเราก็รู้สึกว่า ครั้งนี้เวิร์คมาก เราน่าจะอยู่ได้นานแน่ ๆ ถ้า relax จนฟินได้ระดับนี้
.
แต่ทันใดนั้นเอง ความคิดหนึ่งมันกลับแล่นเข้าหัวมาอัตโนมัติ ผมเห็นภาพตัวเองถูกกระแสน้ำดูดลงไปในเหว จมดิ่งลึกไปเรื่อย ๆ จากความสบาย ผ่อนคลาย กลายเป็นความกลัวเข้ามาแทนที่ มีคำถามผุดขึ้นว่า เราจมลึกลงมาเท่าไรแล้ว? จะกลับขึ้นผิวน้ำทันไหม? จะตีฟินสู้กับกระแสน้ำที่ดูดลงล่างไหวหรือเปล่า? โอย มากมาย …
แล้วร่างกายมันก็ต้องการอากาศทันที!!!
.
เพียงแค่ “Fear” เกิดขึ้นเท่านั้น ทำให้ทุกสิ่งที่กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี พังลงอย่างราบคาบ ครั้งนี้ผมได้เรียนรู้ชัดเลยว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิตใจจริง ๆ Freediving เป็น Mind Game ที่เราได้แข่งกับตัวเองนี่แหละ ว่าจะควบคุมสภาพจิตใจเราได้ดีแค่ไหน ควบคุมให้ร่างกายเราใช้พลังงานได้น้อยที่สุดได้อย่างไร และเราสามารถรู้จักกับตัวเราเอง ขีดจำกัดของร่างกายเราได้ดีเพียงใด
ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ผมจะได้สนิทกับตัวเองมากขึ้น เป็นหนึ่งเดียวกับร่างกายเราได้มากขึ้นอีก จากกีฬาฟรีไดฟ์วิ่ง
เคล็ดลับกลั้นหายใจให้นาน
มันคือการบริหารความคิดในหัวเราครับ ความคิดรูปแบบต่าง ๆ ทำให้สมองทำงานหนักไม่เท่ากัน จึงมีการใช้ O2 มากน้อยต่างกัน ดังนั้น หากสามารถหยุดความคิดได้ คือไม่คิดอะไรเลย ให้จิตมันว่างเปล่าไปเลยได้ นั่นจะดีที่สุด ใช้พลังงานน้อยที่สุด
.
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องจักรตีความอย่างมนุษย์เรา (interpreting machine) มันผลิตความคิดออกมาตลอดเวลา ลองสังเกตก็ได้ว่า เสียงในหัวเราไม่เคยหยุด ไม่ว่าเราจะพยายามให้ตัวเองหุบปากมากแค่ไหนก็ตาม มันก็ยังคงมีเสียงในหัว มีภาพในหัวเกิดขึ้นมาอยู่ดี
.
สำหรับคนที่ไม่เคยฝึกจิตมาก่อน การทำให้ความคิดว่างเปล่านั้นคงเป็นไปได้ยาก ไหน ๆ ก็ทำให้ว่างไม่ได้ เราเลยเลี่ยงไปใช้วิธีจินตนาการมันซะเลย แต่ให้พยายามจินตนาการถึงสิ่งของ ถึงเหตุการณ์ที่เราชื่นชอบ ที่ทำให้เรามีความสุข เพราะช่วงที่เวลาที่เรามีความสุข ร่างกายมันจะ relax และเมื่อร่างกายผ่อนคลายก็ใช้ O2 น้อยลง แต่ถ้าสมองมันต้องทำงานหนัก มันก็ใช้ O2 เยอะอยู่ดี
.
สรุปคือ ถ้าทำจิตว่างไม่ได้ ก็ต้องใช้จินตนาการช่วย
แต่ห้ามใช้ความคิดเยอะ ห้ามสมองทำงานหนัก
ไม่ง่ายนะเฮ้ย! ต้องฝึกครับ!!!
สรุป สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคอร์ส PADI Freediver 2 วัน
- สมองจะสั่งให้เราหายใจ เมื่อระดับ CO2 ในร่างกายสูง
- เมื่อร่างกายผ่อนคลาย และมีความสุข จะใช้ O2 น้อย CO2 ก็เลยเพิ่มขึ้นน้อย ทำให้กลั้นหายใจได้นาน
- Gas Exchange เกิดขึ้นที่ปอดด้านล่าง (แถว ๆ ใต้ลิ้นปี่)
- เมื่อร่างกายรู้ว่า CO2 เยอะ และต้องการขับออก จะเกิดอาการกระตุกแถว ๆ ลิ้นปี่เรียกว่า contraction
- การฝึกฝน Static Apnea จะทำให้ร่างกายสามารถทนปริมาณ CO2 ได้มากขึ้น เวลาที่เรากลั้นหายใจได้ก่อนจะเกิด contraction จึงยาวนานขึ้น
- หายใจเข้าครั้งหนึ่ง มีปริมาณ O2 เข้าไป 21% > ร่างกายเก็บเอาไว้เพียง 5% > ที่เหลือประมาณ 16% จะถูกขับออกมาพร้อม CO2 ตอนหายใจออกด้วย
- เวลาอยู่ใต้น้ำไม่ควรเป่าอากาศออก เพราะเราจะสูญเสีย O2 ออกมาด้วย
- ในการดำ Freediving ห้ามทำ Hyperventilation เด็ดขาด
- เสียงเดินทางในน้ำได้เร็วกว่าบนบกมาก เสียงจึงมาถึงหูเราทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน ทำให้เราไม่รู้ทิศทางของแหล่งกำเนิดเสียง
- ประเภทของการดำน้ำแบบ Freediving มีดังนี้
- Static Apnea – ก้มหน้ากลั้นหายใจบนผิวน้ำ ฝึกผ่อนคลาย จับสถิติด้วยเวลา
- Dynamic Apnea – กลั้นหายใจตีฟิน จับสถิติด้วยระยะทาง
- Free Immersion – ดำน้ำตัวเปล่าด้วยการสาวเชือกลง (ใครจะหนุ่มก็ได้ ตามถนัดมึง) จับสถิติด้วยความลึก
- Constant Weight Freediving – ดำน้ำตัวเปล่าด้วยการตีฟิน จับสถิติด้วยความลึก
- และทฤษฎีที่ผมได้เรียนรู้ใหม่ แล้วรู้สึกว่ามันสุดติ่งกระดิ่งช้างม้าวัวแมวมาก มันเปิด perception ใหม่ของผมมาก ๆ คือ Mammalian Diving Reflex
Mammalian Diving Reflex
ร่างกายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเรา ๆ นี้มี sensor ตรวจจับเมื่อเราอยู่ในน้ำ แล้วอวัยวะต่าง ๆ จะมีปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ เพื่อปรับร่างกายให้เป็นสภาวะที่เหมาะกับการอยู่ในน้ำได้ นี่คือกระบวนการธรรมชาติของร่างกายครับ อัตราการเต้นของหัวใจจะลดต่ำลง หลอดเลือดจะหดตัวลง การไหลของเลือดจะปรับไปยังส่วนที่สำคัญของร่างกาย เช่น สมอง ปอด เท่านั้น ตามปลายแขนขา จะมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง (ดังนั้นเมื่อเรากลั้นหายใจไปนาน ๆ จะมีอาการสั่นที่ขา มือ ปลายนิ้วก่อน เนื่องจากขาด O2) ทุกปฏิกิริยาจาก Mammalian Diving Reflex จะทำให้ร่างกายเราใช้ O2 น้อยลง ผ่อนคลาย และมีความสุขขึ้น ทำให้เราอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้น และถ้าลงไปลึกเกิน 50m ม้ามจะปล่อย O2 ออกมามากทำให้อยู่ใต้น้ำได้นานขึ้นอีก
.
Mammalian Diving Reflex จะชัดมากในทารกที่เพิ่งคลอด หลายคนอาจจะเคยเห็นคอร์สฝึกเด็กแรกเกิดว่ายน้ำ จับโยนลงน้ำนี่ไม่มีสำลักนะ บางคนว่ายพริ้วหน้าพริ้มยิ้มกริ่มเลย เพราะทารกเคยชินกับการอยู่ในน้ำคร่ำมา 9 เดือน ท่ออากาศต่าง ๆ จมูก ปาก มันขยับปิดอัตโนมัติเพื่อไม่ให้น้ำเข้า แต่ปฏิกิริยาเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปเมื่ออายุเริ่มเข้า 6 เดือน และมันจะค่อย ๆ จางหายไปเรื่อย ๆ เมื่อโตขึ้น
.
การบวนการฝึกซ้อมฟรีไดฟ์วิ่ง คือการไป Activate กระบวนการ Mammalian Diving Reflex เหล่านี้ ที่มีอยู่ในร่างกายเราอยู่แล้ว ให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง และสามารถฝึกฝนให้มันทำงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้นเรื่อย ๆ และนี่ก็คือวิทยาศาสตร์ ว่าด้วยการดำน้ำตัวเปล่า ฟรีไดฟ์วิ่ง ที่มีอะไรมากกว่าแค่กลั้นหายใจมุดน้ำมากโขอยู่นะ พอมาเรียนแล้วโลกกว้างขึ้นอีกมากครับ ก็จะฝึกฝนต่อไปบนหนทางนี้ดูนะ ลองดูสักตั้งว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน 🙂
.
การเดินทางครั้งใหม่ของผมเริ่มต้นแล้ว
“Freediving is a journey between 2 breathes.”
– Guillaume Néry
ช่วยแนะนำสถานที่เรียน ได้มั้ยคะ☺️
มีสองครูจะแนะนำให้นะครับ
…
ครูพลอย เป็นนักดำน้ำสาวสวย อารมณ์ดี เติบโตมาในครอบครัวนักดำน้ำ รักการดำน้ำมาตั้งแต่เด็ก เรียนกะครูพลอย เหมือนได้เพื่อน ได้พี่สาว น้องสาว เพิ่มอีกคน สนุกสนาน สบาย ๆ แต่ความปลอดภัยครบถ้วน
Bangkok Freediver by Ploy
https://www.facebook.com/bangkokfreediving
…
ครูหมีเอ เป็นทั้งครู Scuba และ Instructor เช่นเดียวกะครูพลอย แต่คาแรกเตอร์แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เป็นชายหนุ่มรูปร่างหมี (นึกภาพเอง) นิสัยดี ความรู้แน่น ทั้งความรู้ทางทะเลและการดำน้ำเชิงอนุรักษ์ คละเคล้าปะปนด้วยมุกควายเป็นระยะ ครูหมีเน้นดำน้ำอย่างปลอยภัย ทั้งกับตัวเราเองและสภาพแวดล้อม จะถูกเทรนเรื่องจิตสำนึกต่อท้องทะเลไปด้วยแน่นอน
SCUBA หมี Freediving – International SCUBA & Freediving Community
https://www.facebook.com/scubafreediving
ขอบคุณสำหรับคำแนะนำค่ะ😊
อ่านเพลินมากค่ะ ครูเติร์ด (สะกดถูกรึป่าวคะ😄)
ขอบคุณครับ สะกดถูกแล้วครับ
ว่าแต่ปลาไหน?