เพื่อนรุ่นพี่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า
เขาทำอย่างไร เมื่อลูกชายคนโต
“ขอไปม็อบ”
เขาตัดสินใจชวนลูกคุย
ให้ลูกได้พิจารณาในหลาย ๆ มุม
“ความตั้งใจของการไปม็อบนั้นคืออะไร?”
“ลูกต้องการสร้างความแตกต่างอะไรให้เกิดขึ้น?”
ในการพูดคุย
พี่คนนี้ลองทำให้ลูกได้เห็นถึงทางเลือกอื่น ๆ
ที่จะทำให้ลูกสมความตั้งใจนั้นได้
ในเส้นทางของแพทย์ที่ลูกกำลังก้าวไป
แต่คุยกันจบ ลูกก็ยังเลือกที่จะไปม็อบเหมือนเดิม
“เมื่อลูกพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว
ผมก็เปลี่ยนตัวเองเป็น mode support
ที่พ่อจะมีให้กับลูกได้”
พี่เขาช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์ความปลอดภัยให้
เช่น แว่นตา น้ำเปล่า และกำชับว่า
หากมีอะไรโทรหาพ่อได้ตลอดเวลา

ลูกคนเล็ก ถามขึ้นมาว่า
ถ้าพี่ชายเป็นอะไรไป พ่อจะเสียใจไหม?
“ตอบได้ทันทีว่า เสียใจ”
“แต่พ่อเชื่อว่า หน้าที่ของพ่อคือการสนับสนุนให้ลูกรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ให้เขาได้ใช้ชีวิตในแบบที่เขาเลือก อย่างมีสติ รอบคอบ”
เมื่อวานลูกกลับมาอย่างปลอดภัย
และวันนี้ก็คงจะไปอีก
พ่อก็จะทำหน้าที่ของพ่อต่อไป
ผมอ่านบทสนทนานี้แล้วรู้สึกว่า
จุดที่มันทำไม่ง่ายเลยในทางปฏิบัติ
ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คือ
“เมื่อลูกพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว
ผมก็เปลี่ยนตัวเองเป็น mode support
ที่พ่อจะมีให้กับลูกได้”
วินาทีที่คนเราต้องยอมรับว่า
เราเปลี่ยนใจคนที่เรารักไม่ได้เนี่ย
ยากมากนะครับ
คนทั่วไปจะทำอยู่สองแบบ
- โน้มน้าวต่อไปเรื่อย ๆ จนเริ่มเป็นการตื้อ จนอีกฝ่ายเริ่มรู้สึกอึดอัด
- ใช้พลังอำนาจด้านอื่นบังคับแบบอ้อม ๆ แทน เช่น บ่นน้อยใจให้ลูกสงสาร ทำตัวอ่อนแอให้ลูกรู้สึกว่าทำร้ายจิตใจพ่อแม่ หรือบางบ้านหนัก ๆ หน่อยก็เอาความสัมพันธ์มาเป็นตัวประกัน “ถ้าไปม็อบ ไม่ต้องมาเรียกฉันว่าแม่” อะไรทำนองนี้
การ “เคารพการตัดสินใจ แม้ไม่เห็นด้วย”
เป็นการ “อนุญาต” ขั้นสูง
อนุญาต ให้คนเขาได้เป็น ในแบบที่เขาเป็น
อนุญาต ให้สิ่งต่าง ๆ มันไม่เป็น ในแบบที่เราคาดหวัง
ซึ่งส่วนใหญ่มันยาก เพราะเรามักจะเชื่อว่า
ไอ้สิ่งที่เรา “คาดหวัง” นี้
มันดีงาม ยอดเยี่ยม ถูกต้อง
ที่สุดแล้วในจักรวาล
สิ่งที่ผมเห็นจากบทสนทนานี้คือ
พี่ท่านนี้ปล่อยวาง “ตัวตน อัตตา อีโก้”
แล้วใช้ “ความรัก” เป็นจุดยืนแทน
“ถึงจะไม่เห็นด้วยกับเธอ
แต่ถ้าเธอเจ็บปวดเพราะสิ่งที่เธอเลือก
ขอให้ฉันได้ช่วยเหลือเธอนะ”
สำหรับผม นี่คือการบอกรัก โดยไม่ต้องมีคำว่ารักสักคำ
แต่นี่แหละ
“การเป็น” ของ “ความรัก”
ที่สัมผัสได้จริง