แม้หนังจะเต็มไปด้วยบรรยากาศกดดัน และมีฉากหวาดเสียวเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายพอควร ซึ่งผมไม่ค่อยถูกโฉลกกับภาพเหล่านี้นัก แต่ประเด็นที่หนังนำเสนอ ก็มีความน่าสนใจ จนต้องมาบันทึกไว้กันเลยทีเดียว ว่าเราตกผลึกอะไรจากเรื่องนี้บ้าง
*** SPOIL ALERT ***
รีวิวนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของหนังครับ
The Platform คือ
- คุกในแนวดิ่ง
- ไม่มีใครรู้ว่ามีกี่ชั้น
- ทุกชั้นมีช่องลิฟท์ตรงกลาง
- แต่ละคนนำของติดตัวเข้าตึกมาได้คนละ ๑ ชิ้น
- ชั้นนึง มีคนอาศัยอยู่ ๒ คน เป็นรูมเมทกัน
กฎ กติกาของ The Platform
- อาหารถูกเสิร์ฟวันละครั้ง โดยลิฟท์ที่เลื่อนจาก ชั้นบน ➜ ลงล่าง
- อาหารเริ่มเสิร์ฟชั้น ๐ ที่อยู่บนสุด เป็นจำนวนเพียงพอสำหรับทุกคน จากนั้นจะลงไปชั้น ๑, ๒, ๓ ไปเรื่อย ๆ
- ใครจะกินเท่าไรก็ได้ กฎเพียงข้อเดียวคือ ห้ามกักตุนอาหารไว้
- เมื่อลิฟท์จอด กินได้เท่าไหนคือเท่านั้น เมื่อลิฟท์เลื่อนลงต่อ คือหมดเวลากิน
- ทุก ๆ ๓๐ วัน จะมีการสลับชั้น แบบ Random
ความสนุกมันอยู่ตรงนี้ครับ
ถ้าคนชั้นบน กินทิ้งกินขว้าง อาหารก็จะหมดไว และไม่เหลือถึงคนชั้นล่าง ๆ
ผมเก็ทตั้งแต่แว๊บแรกเลย
นี่มันสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมมนุษย์ชัด ๆ
คนรวย ผู้มีอำนาจ มีอิทธิพล
ครอบครองทรัพยากรของโลกนี้แบบเหลือเฟือ
เหลือแค่ไหน ถึงจะปล่อยลงมาให้คนชั้นล่าง ได้เสพบ้าง
ยิ่งช่วง COVID นี่ เราเห็นชัด
คนบางคนได้เข้าถึงทรัพยากรก่อน เช่น หน้ากากอนามัย
กลับใช้มันเพื่อประโยชน์ส่วนตน กักตุน ปั่นราคา แล้วขายทำกำไร
ไม่ต่างอะไรกับคนที่ได้สุ่มมาอยู่ชั้นบน ๆ
แล้วกินมูมมามโดยไม่สน ว่าอาหารจะเหลือลงไปถึงคนข้างล่างเท่าไร
ลุงรูมเมทคนแรก
อีลุงรูมเมทคนแรกพระเอกนี่แหละ นอกจากกินแบบไม่แคร์ว่าอาหารจะเหลือไปถึงคนข้างล่างไหม หลังกินเสร็จลุงยังถ่มน้ำลายใส่อาหาร เป็นการแสดงออกถึงอำนาจของคนที่อยู่ชั้นสูงกว่าอย่างชัดเจน
พระเอกถาม ทำไมต้องทำขนาดนั้น?
ลุงตอบง่าย ๆ ว่า คนข้างบนก็ทำกับเราแบบนี้เหมือนกันนั่นแหละ
ลุงเป็นตัวแทนคนรุ่นเก่า ที่อยู่ในตึกนี้มานาน มีประสบการณ์ไปอยู่ชั้นสูง และ ลงไปชั้นล่าง ๆ มาหมดแล้ว
ลุงบอกพระเอก นี่โชคดีตั้งเท่าไรแล้ว ที่ได้อยู่ชั้น ๔๘ ที่ยังมีอาหารให้กินอยู่ แต่สิ่งที่พระเอกเห็น มันคือเศษอาหารเหลือทิ้ง ที่ผ่านมาแล้ว ๙๔ ปาก ถึงขนาดพระเอกกินไม่ลง
ลุงบอกกรูเคยอยู่ชั้นร้อยกว่า ๆ ไม่มีอาหารเหลือลงไปถึงเลย ต้องกินศพคนตายที่ตกลงไปแทน ดังนั้น ได้กินเศษอาหารเหล่านี้ ก็ยังดีกว่ากินศพเยอะ
ผมคิดว่า คนอย่างลุงนี่แหละ เป็นตัวแทนคนรุ่นเก่า ผู้อยู่มานาน ผู้มากประสบการณ์ คิดว่าตัวเองรู้จักระบบดีทุกอย่าง และใช้ชีวิตไปบนข้อจำกัดที่ตัวเองคิดว่า ได้เข้าใจโลกทะลุปรุโปร่งหมดทุกด้านแล้ว ทั้งที่มันก็มีหลายเรื่องที่ตัวเองไม่ได้ OK กับมัน แต่ด้วยการมี Fixed mindset ทำให้เขายอมรับสภาพ มากกว่าที่จะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ
แต่ยังมีตัวละครอีกหลายคน ที่ไม่ได้ยอมแพ้ ไม่ยอมรับสภาพ เขาดิ้นรน เขาพยายามจะเปลี่ยนแปลง เขาตะเกียกตะกายหาหนทางบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลง Platform นี้
ซึ่งแน่นอนว่า มันคือการออกจาก Comfort zone มันต้องเสี่ยง มันต้องใช้พลังงานมากกว่า การยอมจำนนท์ต่อระบบ ยอมศิโรราบต่อกลไกของ Platform หลายเท่าตัวนัก
หญิงแหกคอกผู้ลึกลับ
คนแหกคอกคนแรก คือหญิงสาวลึกลับผู้นั่งลิฟท์ลงไปพร้อมกับอาหาร เธอคงกำลังท้าทายระบบ หรือไม่ก็มีเป้าหมายอะไรที่สำคัญกว่าการได้อยู่ชั้นบน ๆ
มันชวนให้ตั้งคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญขนาดนั้น เพราะยิ่งลงไปชั้นล่างมากเท่าไร ความเสี่ยงที่จะวันต่อไปจะไม่มีอาหารเหลือลงมาถึง ก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
ซ้ำยังมี “ความเสี่ยง” อื่นอีก คือความปลอดภัย
เมื่อลิฟท์พาเธอลงไปยังชั้นถัดไป เธอก็ถูกผู้ชายชั้นล่างลากลงจากลิฟท์ไปข่มขืนทันที แต่หญิงสาวผู้นี้ก็แข็งแกร่งพอจะรับความเสี่ยง เมื่อนางฆ่าชายหน้าหื่นเหล่านั้นทิ้งอย่างง่ายดาย แล้วนั่งลิฟท์ลงชั้นต่อไปนิ่ง ๆ ราวกับสิ่งนี้คือกิจวัตรประจำวันของเธอ
ลุงบอกว่า ผู้หญิงคนนี้ ทำแบบนี้ทุกเดือน เธอกำลังตามหาลูกของตัวเอง แต่ลุงว่านางฟั่นเฟือน สติไม่ดี เพราะตึกนี้ไม่มีเด็ก Platform นี้ออกแบบมาว่า คนที่จะเข้ามาได้ต้องอายุเกิน ๑๖ ปีเท่านั้น ดังนั้นไม่มีหรอก ลูกอะไรนั่น นางมโนไปเองล้วน ๆ
ผมลองตีความดู ผู้หญิงคนนี้เหมือนคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ แบบไม่สนใจชนชั้น ไม่สนใจเงินทอง ลาภยศใด ๆ เขาจึงสามารถลงลิฟท์มาชั้นล่าง ๆ ได้ง่าย ๆ ไม่สนใจอภิสิทธิ์ในการกินอาหารที่ดีกว่าที่ชั้นบน เขากำลังแสวงหาบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ด้วยความศรัทธาเต็มหัวใจ แม้ทุกคนใน Platform จะบอกว่า สิ่งที่เขาตามหา ไม่มีอยู่จริงก็ตาม
รูมเมทคนที่สอง
รูมเมทคนที่ ๒ ของพระเอก ก็เป็นอีกคนที่พยายามลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงระบบ และสุ่มมาเดือนนี้ได้อยู่ชั้น ๓๓ เขาจึงอยู่ในฐานะที่พอจะทำบางอย่างได้ เพราะมีอาหารเหลือลงมาในสภาพดีพอควร คล้ายคนชั้นกลาง ที่ยังพอมีอำนาจอยู่บ้าง
เธอพยายามตะโกนบอกคนชั้นล่าง ว่าฉันจัดอาหารสำหรับ ๒ ที่ไว้ให้แล้ว ให้กินแค่พออิ่ม ตามที่จัดไว้ให้ แล้วช่วยจัดจาน ๒ ที่ต่อลงไป ตะโกนบอกคนชั้นถัดไปให้ทำเหมือนกัน ถ้าทำแบบนี้ไปทุกชั้น อาหารน่าจะเหลือพอถึงคนชั้นล่างได้
แต่คนชั้นล่างตะโกนสวนกลับขึ้นมาว่า ไม่สนโว้ย เดือนก่อนตรูอยู่ชั้นที่ ๘๘ เดือนนี้ได้อยู่ชั้นดี จะขอแหลกให้เต็มที่บ้าง พวกเขาทำลายจานที่จัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบทั้งหมด ความตั้งใจจากคนชั้นบน ที่พยายามช่วยเหลือคนชั้นล่างทุกคน จึงถูกฆ่าตัดตอนไป เพียงแค่จิ๊กซอว์ตัวเดียวที่ไม่ให้ความร่วมมือ เมื่อการ Pay ไม่ได้ถูก Forward ต่อไป ก็ไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ เกิดขึ้น
ผมประทับใจประเด็นหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า หัวใจของผู้หญิงคนนี้มีความยุติธรรมและไม่เอาเปรียบใคร
ของติดตัวที่เธอเลือกนำเข้ามาด้วยคือ “หมา”
พระเอกยังทักท้วงว่า นึกยังไงเอาหมาเข้ามาในตึกนี้?
ข้าวที่หมาเธอกิน คือข้าวที่คนข้างล่างก็กินได้มื้อหนึ่งเช่นกัน
รูมเมทสาวคนนี้ตอบกลับพระเอกอย่างเรียบง่ายว่า ฉันกับหมาของฉัน จะสลับกันกิน “วันเว้นวัน” ฉันไม่ใช้สิทธิที่ได้อยู่ชั้นสูงกว่า แล้วให้หมาของตนกินอาหาร จนไม่เหลือลงไปถึงคนข้างล่าง ทั้งที่ไม่มีข้อห้ามใด ๆ แต่เธอก็ยังเลือกที่จะผลัดกันกินกับหมา ไม่เอาเปรียบใคร
ฉากนี้แสดงให้เห็นว่า ความตั้งใจของผู้หญิงคนนี้ ที่จะหาวิธีทำให้อาหารเหลือลงไปถึงคนชั้นล่างให้ได้ เป็นของจริง เธอไม่เอาเปรียบใคร ไม่ให้อภิสิทธิ์ใดแก่หมาของเธอ แม้จะอยู่ในจุดที่ทำได้
พูดง่าย ๆ ว่า แม้จะเป็นหมา ที่อยู่ชั้นสูงกว่า แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ไปกินอาหาร ที่ควรเป็นส่วนของคนชั้นล่าง เธอมองหนึ่งชีวิตเท่ากัน แม้ฉันมีโอกาสที่ดีกว่า แต่เธอก็ไม่ใช้มันเอาเปรียบใคร
ส่วนพระเอกเองก็ปล่อยให้รูมเมทตะโกนบอกคนชั้นล่างอยู่แบบนั้นหลายวัน โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย กินอย่างเดียว เพราะจากประสบการณ์อันเลวร้าย ที่ได้สุ่มลงไปอยู่ชั้น ๑๗๑ แล้วถูกอิลุงรูมเมทจับมัดไว้กับเตียง เพื่อจะเฉือนเนื้อพระเอกกินหากไม่มีศพตกลงมา ทำให้พระเอกเริ่มกลายเป็นคนแบบลุง คือไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร
ในสถานการณ์ที่เลวร้ายสุด ๆ
เราก็ต้องการเพียงแค่เอาตัวเองรอดไปให้ได้เท่านั้น
ฉากนี้มันสะท้อนให้เห็นความน่ากลัวของความเหลื่อมล้ำมาก ๆ
เพราะคนชั้นสูงท้องอิ่ม จึงมีเวลาเอาสมองไปคิดว่า จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร จะทำให้มันดีกว่านี้ได้อย่างไร ในขณะที่คนชั้นต่ำท้องหิว ต้องระดมสติปัญญาทั้งหมด ทำทุกอย่างเพื่อแค่ให้มีชีวิตรอดไปวัน ๆ ทั้งที่คนชั้นต่ำนั้น อาจจะมีสติปัญญาเฉียบคมกว่าคนชั้นสูงก็ได้ เขาแค่บังเอิญสุ่มมาได้อยู่ชั้นที่ต่ำกว่าเท่านั้นเอง
เห็นรูมเมทพยายามทำแบบเดิมซ้ำ ๆ อยู่ ๑๕ วัน พระเอกก็เริ่มทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาช่วยรูมเมทสร้างความเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่เขาเห็นแล้วว่าการโน้มน้าวไอ้แสบสองตัวข้างล่างนี้ไม่ได้ผล เพราะมันไม่ฟังเห้อะไรเลย
“ถ้าพวกแกไม่ทำตามที่เพื่อนฉันบอก ฉันจะขี้ใส่อาหารของพวกแก!”
จบครับ สองคนนั้นเริ่มจัดจานตามที่ผู้หญิงขอให้ทำมาครึ่งเดือน
นี่แหละ อำนาจจากคนชั้นสูงกว่า ที่คนชั้นล่างไม่มีทางต่อกรได้เลย
แล้วหนังยิ่งตั้งคำถามที่สั่นสะเทือนยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อรูมเมทสาวถามพระเอกต่อว่า เราทำลงไปข้างล่างได้แล้ว งั้นเราจะโน้มน้าวคนข้างบนเรายังไงดี?
พระเอกทำหน้าเบื่อหน่ายแล้วตอบว่า
“เราส่งขี้ขึ้นไปข้างบนไม่ได้นี่”
สรุป สิ่งที่ผมได้จากหนังที่เต็มไปด้วยสัญญลักษณ์เรื่องนี้
- ชีวิตคนเรา Random เหมือนสุ่มชั้นใน The Platform ตอนนี้เราอยู่ชั้นดี อีกหน่อยอาจจะได้ไปอยู่ชั้นที่ลำบากมาก ๆ ก็ได้ อาจจะเพราะ สภาพเศรษฐกิจ โรคระบาด โชคชะตา สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตเราเหมือน Random ไปอยู่ชั้นอื่นได้ตลอดเวลา
- ไม่ว่าจะอยู่ชั้นไหน เมตตาและมีน้ำใจต่อผู้คนไว้ วันหนึ่งเราอาจจะโคจรมาเจอกันอีกครั้ง ต่างชั้น ต่างกรรม ต่างวาระ ไม่มีอะไรตายตัว ผูกมิตร ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันไว้ ย่อมดีกว่าเอาเปรียบกัน ทำร้ายกันไว้ จนบาดหมาง รอวันที่มีโอกาสเอาคืนกัน
- ทรัพยากรบนโลกมีเพียงพอสำหรับทุกคนเสมอ เราแค่ยังหาทางแบ่งมันไม่เจอ
- เมื่อเรามีโอกาสได้อยู่ชั้นบน มันคือโอกาสและอำนาจในการแบ่งปันอาหารลงไป ไม่ใช่ขี้ใส่อาหารเขา
- ถ้าคนเราในทุก ๆ ชนชั้น ไม่ช่วยกันแบ่งปัน หาวิธีกระจายอาหารลงไปยังทุกชั้น การฆ่ากันเพื่อกิน เพื่ออยู่รอด ก็จะยังเกิดขึ้นต่อไป และคนชั้นล่างจะโกรธแค้นคนชั้นบนต่อไป
- ไม่ว่าจะอยู่ชั้นไหน เอาจริง ๆ ทุกคนอยู่ใน Ecosystem เดียวกัน มีผลกระทบต่อกันและกัน สามารถสื่อสารกันได้ ผ่านทางช่องว่าง และลิฟท์ ถ้าเรากล้าพอที่จะใช้มัน
- ผู้ออกแบบระบบ Platform คือผู้คุมกฎสูงสุด กฎบอกว่า ห้ามกักตุนอาหาร ใครทำปุ๊ป อุณหภูมิชั้นนั้นจะเปลี่ยนจนอยู่ไม่ได้ทันที ถ้าเทียบกับโลก ก็คือกฎของธรรมชาติ วันนี้เราแหกกฎสมดุลธรรมชาติ เราทำลายชั้นบรรยากาศจนโลกเริ่มแปรปรวน เรากำลังจะอยู่ไม่ได้
- การได้พบเจอ “ปาฏิหาริย์” อย่าง “เด็ก” ที่ใคร ๆ ก็เชื่อว่าใน Platform นี้ ไม่มีอยู่จริง มันต้องใช้ความกล้าหาญอย่างสูง อย่างเช่นการลงลิฟท์ไปชั้นล่าง เพื่อค้นหาเด็กนั่นแหละ
- มันคือความกล้าหาญที่จะปล่อยวาง เลิกยึดติดกับสิทธิพิเศษที่เรามี กล้าที่จะทิ้งชีวิตที่ดี เสี่ยงพาตัวเองไปในจุดที่อันตรายกว่า ไม่รู้จะรอดกลับมาอีกไหม ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า เด็กที่ว่านั้นจะมีจริงหรือไม่
- อาจจะเหมือนกับ ถ้าอยากไปให้ถึงนิพพาน ก็ต้อง “ปล่อยวาง” ความอยากได้นิพพานก่อนนั่นแหละ
- สุดท้าย การตามหาเด็ก ในระบบที่ผู้ควบคุมระบบบอกว่าไม่มีอยู่จริง ผมว่ามันเป็นการต่อสู้เชิงสัญญลักษณ์ของผู้ถูกกดขี่นะ ในมุมผู้น้อยที่ไม่มีกำลังอะไรจะไปสู้กับอำนาจบารมีระดับนั้นได้ แค่เพียงเถียงให้ได้ว่า นี่ไงฉันเจอเด็กที่คุณบอกว่าไม่มีอยู่จริง มันคือสะเก็ดไฟแรกที่ต้องลุ้นให้กลายเป็นไฟป่า คือน้ำผึ้งหยอดเดียว ที่ต้องลุ้นให้กลายเป็นสินามิของสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง