โดยปกติ พ่อผมมักจะรอให้แม่หลับก่อน แล้วค่อยแอบโทรมาคุยกับผมตอนตี 1 เมืองไทย (เวลาดัลลัสก็ราว ๆ เที่ยง) เพราะส่วนมากเวลาที่ผมโทรไป ก็จะคุยกับแม่ซะเป็นส่วนใหญ่ และถ้าขอสายคุยกับพ่อโดยแม่อยู่แถวนั้น บางเรื่องอย่างเช่นการเมือง ก็จะคุยกันได้ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะมักจะมีเสียงสูง ๆ ช่วยประสานเข้ามาตามจังหวะเนื้อหาที่ไม่ค่อยเข้าหู บทสนทนาจึงมักต้องสงบลงไปเพื่อความปรองดองภายในครอบครัว พ่อจึงชอบคุยกับผมตัวต่อตัวมากกว่า อันนี้ผมเข้าใจ เพราะผมก็ได้ความเป็นศิลปินที่มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูงมาจากพ่อเหมือนกัน แม้บางครั้งไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่บางเรื่องมันก็ไม่สะดวกนักที่จะคุยให้คนอื่นได้ยิน ไม่ใช่มีอะไรต้องปกปิด แต่เป็นแค่ความสะดวกใจเท่านั้นเอง
วันนี้พ่อโทรมาคุยจากไทยตอนตี 1 อีกเช่นเคย ก็คุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบทั่วไป เหมือนไม่มีอะไร ผมก็กำลังจะตัดบทขอวางในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เพราะคุยตอนกลางวันจะโดนตัดจำนวนนาที ไม่เหมือนกลางคืนที่โทรฟรี นาทีไม่ลด (ที่อเมริกานี่ คนโทรกับคนรับสายเสียจำนวนนาทีใน package อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ต้องมาเกี่ยงกันว่าใครจะเป็นคนโทร) แต่พ่อก็เกริ่นขึ้นมาประโยคหนึ่งที่ทำให้บทสนทนายังฝ่า minute ดำเนินต่อไป
“ขอคุยเรื่องในสมัยเก่า ๆ ด้วยหน่อย”
เพราะเมื่อทริปภูชี้ฟ้าล่าสุดของครอบครัว มีการล้อมวงคุยนินทาผมซึ่งไม่อยู่ตรงนั้น และมีคำถามหนึ่งถามพ่อขึ้นมาว่า
“เคยตีเติร์ดบ้างไหม?”
…
พ่อถามผมว่า จำได้มั้ยว่าตอนเด็กเคยถูกพ่อตีอยู่ทีนึง ผมถามกลับไปว่า ทีเดียวเองเหรอ ตั้งเยอะไม่ใช่เหรอ พ่อบอกว่า ไม่ พ่อเคยตีเติร์ดแค่ครั้งเดียว (แล้วไอ่ที่โดนตีทั้งหลายในความทรงจำนี่ กรูไปโดนใครตีมาจากไหนเยอะแยะวะ) นึกย้อนกลับไป ก็มีภาพพ่อสวมหมวกกันน๊อค สายล๊อคห้อยลงมาข้างนึง ในมือถือไม้เรียว (น่าจะเป็นก้านมะยมหรืออะไรสักอย่างที่เก็บจากพื้นแถวนั้น) อยู่แค่ครั้งเดียว คือ วันที่ดื้อไม่ยอมไปบ้านยายกับพ่อแม่ เพราะห่วงเล่น อยากเล่นนู่นนี่นั่นอยู่กับบ้าน พ่อเลยบอก ได้! อยากอยู่บ้านก็อยู่ไป แต่ห้ามลงจากบ้านเด็ดขาด!
บ้านผมอยู่บางพลี, สมุทรปราการ บ้านยายผมอยู่บางกอกใหญ่, กรุงเทพ สมัยนั้นบ้านผมยังเดินทางด้วยมอเตอร์ไซด์ กว่าจะไปกว่าจะกลับก็กินเวลาค่อนวัน การสั่งห้ามลงจากบ้านนี้ ก็เป็นเหมือนมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วย เป็นการป้องกันไม่ให้ผมไปเล่นจนตกน้ำตกท่า หรือได้รับอันตรายจากที่ไหน พร้อม ๆ กับดัดนิสัยดื้อ เพราะที่บ้านไม่มีอะไรกิน ควรจะต้องต่อสู้กับความหิวทั้งวันและได้บทเรียนจากมัน
แต่แล้ววันนั้นผมก็ฝ่าฝืนคำสั่งพ่อ ลงมาเล่นนอกบ้าน (บ้านเก่าผมเป็นบ้านไม้แบบมีใต้ถุน ตัวบ้านอยู่ชั้นสอง ต้องขึ้นบันได ถึงใช้คำว่า “ลง” จากบ้าน) หนำซ้ำยังไปกินข้าวเย็นที่บ้านน้าลักษณ์อีก เพราะวันนั้นคงเล่นอยู่กับ ผึ้ง ไผ่ พอบ้านเค้าเรียกกินข้าว เค้าก็เลยเรียกเราไปกินด้วย ซึ่งจำได้แน่ ๆ ว่า ตอนนั้นปฏิเสธไป จู่ ๆ ไปกินข้าวบ้านคนอื่นรู้เลยว่าโดนพ่อดุแน่ ๆ ไปรบกวนคนอื่นเค้า กินบ้านเราดีกว่า แต่เหมือนกับจะเป็นการเกลี้ยกล่อมแกมบังคับ พร้อมกับคำว่า ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวคุยกับพ่อให้เอง ประมาณนั้น เด็กชายเติร์ดก็เลยไปกินข้าวบ้านเค้าเรียบร้อยโรงเรียนวัดหัวคู้ (โรงเรียนที่พ่อกะแม่สอน)
…
กินข้าวเย็นเสร็จแล้ว ผมกับเด็ก ๆ แถวบ้าน (ที่มีแต่ผู้หญิง) ก็เล่นกันอยู่แถว ๆ นั้น จนกระทั่งรถมอไซด์คันหนึ่งลงสะพานมา มีสายตาจากคนขับและคนซ้อน แลเห็นตำแหน่งของเด็กชายเติร์ด ที่กำลังเล่นอย่างสนุกสนานนอกบ้านราวกับประเทศไทย (ของเด็กชายเติร์ด) ไม่ได้ถูกประกาศ curfew จ้องมองมาด้วยรังสีอำมหิต ขนาดที่เด็กตัวเล็ก ๆ ยังรู้สึกได้ และ remind ถึงข้อห้ามของอำมาตย์แห่งบ้านเลขที่ ๓๖ ขึ้นมาได้ทันที (ไม่ได้อยากใช้ไทยคำอังกฤษคำนะ แต่สัมผัสในมันเพราะดี)
ตอนนั้นรีบวิ่งไปหารถมอไซด์ที่กำลังเข้าจอด ด้วยความรู้สึก ตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ประมาณนักโทษประหารวิ่งเข้าไปหาคมขวาน แต่พยายามกลบเกลื่อนด้วยหน้าเจื่อน ๆ ด้วยการชี้นำประเด็นไปยังความสำเร็จในการช่วยประหยัดค่าข้าวเย็น เพราะไปกินข้าวบ้านน้าลักษณ์มาแล้ว พูดออกไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครถาม โดยคิดเอาเองว่ามันจะช่วยให้จบงาม ๆ แบบไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องข้อห้ามอะไรทั้งหมดนั้นไป หารู้ไม่ว่ามันยิ่งทำให้พ่อผู้ห่วงใย รีบบึ่งมอไซด์กลับมารับลูกออกไปกินข้าว สติขาดผึงดีงวดาวส์เพิ่มขึ้นไปอีกกระทง
…
พ่อลงจากมอไซด์ ก็เดินไปหยิบอะไรสักอย่างที่พื้นขึ้นมาถือในมือ พร้อมกับเรียกลูกชายวัยกระเตาะด้วยน้ำเสียงอันไพเราะว่า
“ไหนมานี่เด๊ะ!”
ไพเราะกะผีไรละครับ ตอนนั้นไม่ต้องเป็นเด็กฉลาดอะไรมากมาย มันก็ตรัสรู้ได้แล้วว่า “งานเข้า”
พ่อ : “พ่อบอกว่าไง?”
ลูก : “ไม่ให้ลงจากบ้าน”
พ่อ : “แล้วนี่ลงมารึยัง?”
พ่อ + ลูก : “ลงมาแล้ว!”
(ฟวับ! – แง๊!)
…
จริง ๆ แล้วการมาคุยกันอีกที หลังจากผ่านไปยี่สิบกว่าปีนี่ มันก็สนุกและตลกดีครับ แต่สิ่งที่ลูกอย่างเราไม่เคยรู้มาก่อนคือ การตีครั้งแรกและครั้งเดียวนั้น มันฝังอยู่ในใจพ่อมาตลอดชีวิต พ่อเริ่มเปลี่ยนบรรยากาศการคุยให้ซึ้ง โดยใช้เสียงนึ่ง ๆ (ประมาณว่า นุ่ม ๆ นิ่ม ๆ) พ่อบอกว่า รู้ตัวว่าตอนนั้นทำรุนแรงเกินไป ที่จริงน่าจะคุยกันด้วยคำพูดมากกว่า ไม่รู้ว่าที่ทำลงไปครั้งนั้นได้ทำให้เติร์ดเจ็บแค้น เป็นรอยฝังลึกอยู่ในใจหรือเปล่า ถ้าทำให้รู้สึกอย่างนั้น
พ่อก็อยากขอโทษด้วย
ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า พ่อแม่ที่ตีลูกด้วยน้ำตานองหน้าตัวเอง เค้ารู้สึกยังไง
ผมตอบพ่อกลับไปว่า ไม่เคยรู้สึกเจ็บแค้นหรือโกรธพ่อเลย ต้องขอบคุณมากกว่า ที่เลี้ยงผมมาอย่างดี ดีในที่นี้ไม่ใช่ริ้นไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม หากแต่เป็นวิธีการสอนให้เป็นเด็กมีตรรกะ คิดเป็น รู้ถูกรู้ผิด มาตั้งแต่แบเบาะ จึงตระหนักรู้ผิดตั้งแต่เห็นมอไซด์พ่อเลี้ยวลงสะพานเข้าบ้านมาละ จึงยอมรับการลงโทษนั้นได้แต่โดยดี แต่ถูกตีแล้วก็ต้องร้องไห้ตามประสาเด็กธรรมดา
…
ณ จุดนี้ผมก็เลยระลึกชาติย้อนกลับไปตอนราว ๆ ม.๓ ได้ ที่โดนจารย์สุเรรัตน์ตีเลยมาจนโดนข้อมือเป็นรอยแดง เข้าใจแล้วว่าทำไมพ่อถึงได้โกรธนัก และจะมาเอาเรื่องอาจารย์ถึงที่โรงเรียนให้ได้ มันคงประมาณว่า ลูกกรูกรูยังไม่อยากตีเลย มรึงเป็นใคร มาตีลูกกรูไม่ระวังจนโดนแขนได้ ถึงตอนนี้ก็ผูกเรื่องในความทรงจำได้แล้วว่า ไอ่ที่โดนตีเยอะ ๆ ในความทรงจำนี่ โดนมาจากรัตนโกสินทร์สมโพชลาดกระบัง (รส.ล.) ทั้งนั้นเลย ซึ่งก็ปน ๆ กันไประหว่างนักเรียนเฮี๊ยวเอง แต่บางครั้งอาจารย์แม่มก็เหียกเอง
อย่างเช่นมีครั้งนึง เกิดเหตุอะไรไม่รู้ละ แต่บรรดาอาจารย์ตัดสินใจลงโทษนักเรียน “ทั้งโรงเรียน” คือจะตีตอนเลิกแถวหน้าเสาธงไปเข้าห้องเรียน อาจารย์ให้เดินเรียงเดี่ยวแล้วตีทีละคน ซึ่งไอ่อาจารย์คนแรกที่ตีนี่ เป็นอาจารย์พละที่ชอบโชว์พาวว่า วงสวิงกรูกว้างที่สุดในโรงเรียน เอาง่าย ๆ ว่าทำสำนวนฟ้องพี่แกได้เลยว่าตีแรงเกินกว่าเหตุ เพราะมีหลายคนเลือดออกเพราะการหวดของพี่เค้าเพียงทีเดียวนี่แหละ จริง ๆ เข้าใจครับ ว่าการตีแรง ๆ เป็นจิตวิทยาการขู่เด็กให้กลัว แต่ผมรู้สึกว่า การตีแรง “เกินกว่าเหตุ” มันเป็นความโรคจิตมากกว่า เป็นความภูมิใจเมื่อเด็กกล่าวขวัญว่า ไม่อยากถูกอาจารย์คนนี้ตี คงจะคิดว่ากรูนี่สุดยอดแล้ว ประมาณนั้น ที่สำคัญไอ่เหตุการณ์ตีทั้งโรงเรียนครั้งนั้น ตีไปได้สักพัก บรรดาอาจารย์ที่ไม่มีหัวคิด ก็เพิ่งจะคิดได้ว่า การเลิกแถวจะช้ามากและจะกินเวลาชั่วโมงเรียน เลยเปิดสายตีขึ้นมาอีกแถวหนึ่งเพื่อระบายเด็กให้เร็วขึ้น แต่การตีของอาจารย์เสรีที่แถวใหม่นี้ มันคือการเอาไม้เรียวไปทาบที่ตูดเด็กให้มีเสียงดังแปะเฉย ๆ ไอ่สองมาตรฐานที่น่าเกลียดเช่นนี้ ทำเอาเด็กที่ถูกตีไปโดยอาจารย์พละโรคจิตคนแรก อาฆาตเคียดแค้นกันถึงขนาดมาเขียน blog ด่าตอนโตเป็นผู้ใหญ่เลยทีเดียว
…
แล้วก็คุยกับพ่อยาวไปจนถึงเรื่องของเล่นชิ้นแรก ๆ มันคือ wooden puzzle (เรียกให้หรูไปงั้นแหละ มันคือไม้ที่ตัดมาเป็นชิ้น ๆ) ที่พ่อไปสั่งอาแกละตัดไม้ออกเป็นรูปทรงเรขาคณิตต่าง ๆ แล้วมาให้ต่อเล่น ประกอบเล่นเป็นนู่นนี่นั่นได้ตามจินตนาการ รวมไปถึงของเล่นฝึกสมองต่าง ๆ ที่พ่อชอบซื้อมาจากท้องฟ้าจำลอง ศึกษาภัณฑ์ แล้วชอบมาชวนเล่นเชิงท้าทาย ว่าทำได้มั้ย มาจับเวลาดู ว่าจะแก้ปริศนาได้ภายในกี่นาที ไรงี้ รอยหยักของสมองไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ จริงอยู่ความฉลาดมันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้นี่ครับว่า วิสัยทัศน์ของพ่อแม่ การเลือกของเล่นให้ลูก ทุกอย่างที่พ่อกับแม่หยิบยื่นให้ตั้งแต่ทารกนั้น มีผลต่อการพัฒนาของสมองทั้งสิ้น
ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก ๆ ที่มีครอบครัวที่อบอุ่น มีพ่อกับแม่ที่ผมพูดได้เต็มปากว่า ต่อให้ได้รับ offer วีซ่าอเมริกา ให้อยู่ทำงานได้เงินดอลล่าห์ที่นี่ มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่นี่ ผมก็จะปฏิเสธมัน แล้วกลับไปใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตพ่อแม่อยู่กับท่าน ผมใช้บริการของธนาคารเกียรตินาคิน ส่งการ์ดให้พ่อเมื่อวันพ่อที่ผ่านมา บทสนทนาของพ่อในวันนี้ ยิ่งตอกย้ำในสิ่งที่ผมเขียนไปบนการ์ดว่า
ผมภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกพ่อจริง ๆ
ถ้ามีลูกเมื่อไหร่ จะตีรึไม่ตีหล่ะ
ถ้าเป็นไปได้ ก็ตั้งใจว่าจะไม่ตีเหมือนกันครับ 🙂
Like..!!
ผมเป็นนักจิตวิทยาที่ทำงานด้านการป้องกันการทำร้ายเด็กด้วยการเฆี่ยนตี อ่านข้อเขียนของคุณแล้วชอบมากครับ เขียนได้ละเอียดถึงความรู้สึกของเด็กและพ่อแม่ได้ชัดมาก ตอนนี้มีงานวิจัยเกี่ยวกับผลร้ายของการตีเด็กมากจนไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปว่าจริงไหม ลองเข้าไปดูตัวอย่างได้ครับ ที่ http://www.endcorporalpunishment.org และ http://www.stophitting.org