ผมวิ่งเฉลี่ย สัปดาห์ละ ๒ ครั้งมาประมาณ ๒ ปี แต่ไม่เคยคิดจะลงงานวิ่งเลย เพราะยังไม่อิน กับการเสียตังค์ให้งานวิ่ง ยังไม่ได้ต้องการ Facility อำนวยความสะดวก เพื่อให้เราได้สร้าง Performance ในการวิ่งได้เต็มที่ขนาดนั้น ไม่อยากได้เสื้อ ไม่อยากได้เหรียญ ไม่มีที่เก็บ รกบ้าน แต่เข้าใจคนที่อินนะครับ ไม่ได้แอนตี้อะไร ผมแค่ยังเข้าไม่ถึงมันในวันนี้เองแหละ อีกหน่อยอาจจะเข้าถึงก็ได้
แต่หลัก ๆ เลย ผมอคติงานวิ่ง เพราะได้เห็นสภาพแย่ ๆ หลังงานวิ่งต่าง ๆ ภาพขยะเกลื่อนถนน เกลื่อนสวนสาธารณะ ถุงพลาสติกที่หุ้มเหรียญมา แก้วพลาสติก ช้อนพลาสติก งานวิ่งงานนึงผลิตขยะให้โลกในระดับที่ผมไม่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในงานนั้น
แต่งานวิ่งนี้ครับ ประกาศกล้าว่า ปลอดพลาสติก ถึงขนาดใช้ชื่อว่า No Plastic Run คอนเซ็ปต์หลักคือ
- แจกแก้วน้ำซิลิโคน ไว้กินน้ำตามจุด แทนการเทใส่แก้วพลาสติกหรือแก้วกระดาษ แบบงานวิ่งทั่วไป
- ตบท้ายด้วยรับช้อนไม้หลังเข้าเส้นชัย เพื่อใช้รับประทานอาหารจากร้านที่มาตั้งซุ้ม จะได้ไม่ต้องแจกช้อนส้อมพลาสติกกันอีก
- แถมร้านที่จะมาออกบูธ จะใช้วัสดุธรรมชาติให้มากที่สุดเพื่อลดขยะอีกด้วย
- ยังไม่พอ ในส่วนขยะที่มันจำเป็นต้องมีนั้น จะทำการแยกขยะจริงจัง ใครไม่สะดวกวิ่ง มาเป็นอาสาสมัครคัดแยกขยะก็ได้
โอ้โห! แบบนี้สิ งานวิ่งที่ควรจะเป็น เรามาวิ่ง มาระดมทุนเพื่อไปสร้างสิ่งดี ๆ กัน ดังนั้นเราไม่ควรทำลายสิ่งแวดล้อม โดยการผลิตขยะจำนวนมหาศาล นี่จึงเป็นงานวิ่งงานแรก ที่ผมยินดีเข้าร่วมด้วยความเต็มใจ ขอร่วมตะโกนกับผู้จัดงานนี้ ให้สังคมได้ยินว่า
“เรามาจัดงานวิ่งลดโลกเลอะกันเถอะ”
ที่มาที่ไปของโครงการนี้ ผมอ่านจากทั้งในเฟซบุ๊คเพจและเว็บไซท์ก็ยังไม่กระจ่างนักว่า ใครเป็นผู้จัดบ้าง ตัวละครเยอะเหลือเกิน ขอขอบคุณแบบเหมารวมเลยละกันนะฮะ ง่ายดี
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กลุ่มรักษ์ไม้ใหญ่ (Big Trees Project)
- Urban Creature
- Ananda Development
- กลุ่มทอสีรักษ์โลก
- Berving
แคมเปญงานวิ่ง Run Your City ถูกสร้างขึ้นมาจากไอเดียที่ว่า จะเป็นงานวิ่ง ที่ไม่ได้พาคุณไปวิ่งเพียงอย่างเดียว แต่จะทำให้คุณเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยพัฒนาเมือง ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นด้วย และงานวิ่งครั้งแรกก็มาในธีม No Plastic Run นี่เอง
และจากการตามอ่านในเพจ ทำให้ผมได้ทราบว่า มธ. และ Big Trees Project ร่วมกันรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่สีเขียว และเรื่องการจัดการขยะ เช่น การอบรมรุกขกรรมขั้นต้นให้กับพนักงาน กทม. ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ เราจะเห็นว่า ช่วงหลังมานี้ กทม. ตัดแต่งต้นไม้ได้ดี ได้สวยงามเรียบร้อยมากขึ้น ก็มาจากการอบรมนี้ หรือ การจัดการขยะที่สนามหลวงในช่วงงานพระราชพิธีบรมศพ ก็เป็นหนึ่งในผลงานที่ผ่านมาเช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก BIG Trees
“งานวิ่งแรกที่จะใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด เราจะตัด เปลี่ยน และเลิกใช้พลาสติกในทุกๆ ที่ที่เราสามารถทำได้ แล้วเราจะช่วยให้คุณลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ไม่มีภาชนะไม่จำเป็น ไม่มีขวดน้ำใช้แล้วทิ้ง ไม่มีบรรจุภัณฑ์ส่วนเกินอีกต่อไป”
อ่านข้อความนี้ในเพจแล้ว อยากกราบ Copywriter มันโดนใจผมแทบทุกตัวอักษร นี่ถ้าวางปุ่ม JOIN NOW ไว้เป็น Call to action หลังประโยคนี้ ผมบอกเลย Convertion Rate (อัตราการเปลี่ยนจากผู้ชมเป็นลูกค้า) สูงแน่นอน
นอกจากงานนี้จะเป็นการจุดประกายการวิ่งแบบไม่สร้างขยะ และการแยกขยะแล้ว เงินค่าสมัครวิ่งของเรา หลังหักค่าใช้จ่ายจะถูกนำไประดมทุนเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. จัดตั้ง Social Enterprise ของ มธ. สร้างอาชีพเกี่ยวกับต้นไม้ให้กับประชาชน เช่น รุกขกร การเพาะกล้าไม้ การทำปุ๋ยชีวภาพ ฯลฯ
2. ร่วมกับ โครงการกำลังใจ ของกรมราชทัณฑ์ จัดทำโครงการสร้างอาชีพเกี่ยวกับต้นไม้ ให้ผู้ต้องขัง และผู้พ้นโทษ
3. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการผลิต “ช้อนกินได้” ออกมาขายในท้องตลาดเพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกในเมือง
ผมลองหาข้อมูลช้อนกินได้ดูคร่าว ๆ พบว่า ผู้คิดค้นคนแรกเป็นชาวอินเดีย ทำมาจากข้าวและแป้งสาลี สามารถใช้ช้อนนี้กินซุปได้นานถึง ๒๐ นาที แถมยังทำออกมาหลายกลิ่น หลายรสชาติให้เลือก ใช้งานเสร็จหากไม่กินเข้าไป ก็จะย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติภายใน ๕ วัน แต่ถ้ายังไม่ถูกใช้งาน ก็อยู่ได้นานถึง ๓ ปี จากการอบแห้งโดยไม่ใช้สารกันบูดใด ๆ ราคาทั่วไปประมาณชิ้นละ ๑.๕๐ บาทเท่านั้น ต่อไปถ้าผลิตในบ้านเราคงหาซื้อกันง่ายขึ้น
ลองนึกดูสิ ถ้าแม่ค้าข้าวกล่องทุกเจ้าใช้ช้อนแบบนี้แทนช้อนพลาสติก ขยะในประเทศเราจะลดลงมากขนาดไหน!?
ทำให้เด็กมันดู!
ประธานในพิธีไม่ได้กล่าวไว้ ผมนี่แหละกล่าวเอง อ.ปริญญา จาก มธ. ขึ้นมากล่าวเปิดงานนี้ได้อย่างทรงพลังมาก พูดถึงการจัดงานวิ่งว่าผลิตขยะเยอะเกินไป แถมขยะพลาสติกชิ้นนึงใช้เวลาย่อยสลายกว่า ๔๐๐ ปี เราจึงทำให้ดู ว่างานวิ่งที่ไม่มีขยะพลาสติกแบบนี้ก็จัดได้
“นี่คือช้อนส้อมไม้ สำหรับรับประทานอาหาร ท่านใช้เสร็จแล้ว ขอให้เอากลับไปใช้ต่อด้วยนะครับ No Plastic จะไม่ใช่แค่งานนี้ เข้า ๗-๑๑ หรือร้านสะดวกซื้อครั้งต่อไปให้เลิกรับช้อนส้อมพลาสติก!”
“เราจะช่วยกันทำให้เห็นว่า งานวิ่งที่ไม่มีขยะพลาสติก สามารถทำได้ครับ!”
ขอบคุณวีดีโอจาก Warawat Bibb แห่ง Trash Hero Bangkok ผู้จุดประกายเรื่องขยะให้ผู้คนมากมาย
ครูดิน สถาวร จันทร์ผ่องศรี มานำยืดเหยียด เสียดายเวลากระชั้นไปนิด ไม่งั้นครูดินอาจจะแนะนำก่อนวิ่งได้มากกว่านี้ ถ้าได้ฟังเทคนิคการจัดท่าวิ่งจากครูดิน หลาย ๆ คนอาจจะได้สังเกตตัวเองว่า วิ่งลงส้นเท้า วิ่งเท้าแบะ วิ่งเอี้ยวตัวไปมา แกว่งแขนตัดลำตัว อะไรพวกนี้ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้บาดเจ็บได้ เมื่อวิ่งนาน ๆ ครับ
เส้นทางวิ่งสวยงาม ทะเลสาบสวนเบญจกิติสะท้อนท้องฟ้าสีส้ม เป็นวิวเมืองที่สวยดี ปกติผมวิ่งสวนรถไฟเห็นแต่ต้นไม้ มาเปลี่ยนเป็น City run บ้างก็แปลกตาดี
เสียตรงเส้นทางรอบสวนเบญฯ เหม็นน้ำเน่าไปหน่อย และการใส่บันไดเข้ามาในเส้นทางวิ่งนี่ ถือเป็นการตัดกำลังกันมาก ๕ ๕ ๕ แต่รับประกันได้ว่า ทุกคนจะได้ตูดที่ฟิตและเด้งกลับบ้านไปแน่นอน
ผมก็เพิ่งรู้ว่า มันมีสะพานคนเดินที่ยาวขนาดนี้ อยู่ตรงชุมชนนี้ด้วย ปกติขับรถขึ้นทางด่วน เห็นสะพานคนข้ามนี้ ลอยข้ามหัวเราไป แอบสงสัยเหมือนกันว่าเป็นสะพานอะไร วันนี้ได้มารู้จักสมใจ บรรยากาศบ้านไม้ในชุมชนก็ให้ความรู้สึกแปลกตา น่ามาถ่ายรูปเล่นเหมือนกันครับแถวนี้
จุดรับน้ำในฝันเลย คือ มีแค่คนถือเหยือกน้ำคอยเติมใส่แก้วซิลิโคน ที่นักวิ่งทุกคนมีติดตัว ไม่ต้องตั้งโต๊ะใหญ่ ๆ เทน้ำใส่แก้วไว้เยอะ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็กินแล้วทิ้งแก้วทันที น้อยคนนักที่จะถือแก้วเดียววิ่งตลอดงาน ที่เจอก็มีรุ่นพี่ผมคนนึง พี่เปา Surawich ถือแก้วเดียววิ่งจนจบ ๔๒ กม. บางแสนมาราธอนที่ผ่านมา เพราะเห็นผมลดขยะพลาสติก เลยอยากทำบ้าง ใจพี่โคตรหล่อ
สถิติงานวิ่งแรกของผมกับภรรยา เราเข้าเส้นชัยพร้อมกันที่เวลา ๑ ชั่งโมง ๑๔ นาที (เพซเฉลี่ย ๗.๒๗) งานนี้ผู้จัดวัดระยะ ๑๐k มาผิดนะครับ ที่เส้นชัย Garmin ของผมกะอุ๊วัดระยะได้แค่ ๙.๒ กิโลเมตรเท่านั้น เราเลยต้องวิ่งต่ออีก ๘๐๐ เมตร เพื่อให้ได้ระยะ ๑๐k ตามที่ตั้งใจ
งานนี้ผมตั้งใจวิ่งไปพร้อม ๆ กันกับอุ๊ เพราะอยากได้รูปคู่แบบนี้แหละ ขอบคุณช่างภาพนะฮะ (ขอบคุณไปแล้วด้วยการกดซื้อรูปแบบไม่มีลายน้ำมา)
ขอบคุณภาพจาก BIG Trees
เรื่องซุ้มอาหารหลังเข้าเส้นชัยทำได้ดีมาก เห็นแล้วน้ำตาจะไหล อยากให้สื่อเอาไปออกข่าวเยอะ ๆ ผมไม่เห็นพลาสติกจากร้านอาหารที่มาออกงานเลย มีแต่จาน ชามกระดาษ น้ำมะพร้าวเป็นลูก ๆ ร้านไอติม Pine’s day ก็เป็นไอศกรีมสับปะรดที่ใช้สับปะรดจริง ๆ เป็นภาชนะ ส่วนช้อนพลาสติกไม่มีให้เห็นเลย เพราะทุกคนมีช้อนส้อมไม้ two-in-one ที่ได้รับแจกตอนเข้าเส้นชัยอยู่แล้ว
ขอบคุณภาพจาก BIG Trees
การแยกขยะทำได้ดีงามมาก ๆ ทุกจุดที่มีถังขยะเป็นถังขยะแบบแยกประเภทขยะทั้งหมดเลย และมีจิตอาสาประจำจุดคอยดูความเรียบร้อยในการแยกขยะและให้คำแนะนำอีกด้วย
และนักวิ่งทุกท่านก็ได้ช่วยกันทำให้ความตั้งใจของทุกคนเป็นจริง ไม่มีขยะทิ้งเกลื่อนกลาดตามพื้นเลยสักชิ้น คือเห็นพื้นหญ้าตรงที่นักวิ่งนั่งกินอาหารกันแล้วสบายตามาก มันลบภาพแย่ ๆ นักวิ่งทิ้งแก้วน้ำขวดน้ำชามโฟมหลอดช้อนไว้กะพื้น ออกจากหัวผมไปได้ อยากกราบทุกคน
ขอบคุณภาพจาก BIG Trees
นอกจากการจัดการงานวิ่ง ที่ลดขยะจากแก้วน้ำไปได้ ๑๐๐% แล้ว ยังมีการจัดการขยะในรูปแบบอื่น ๆ เช่น รีไซเคิลหลอดพลาสติกไปทำหมอน เอากล่องนมไปทำหลังคา ส่วนขยะสดอื่น ๆ ยังเอากลับไปทำปุ๋ยอีกด้วย เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในงานวิ่งครั้งนี้แล้ว ผมสัมผัสได้จริง ๆ ครับว่า มันเป็นไปได้จริง ๆ นะ มันเกิดขึ้นแล้ว เราทำให้ดูแล้วครับ สิ่งที่ อ.ปริญญา กล่าวไว้ตอนเปิดงาน
“เราจะช่วยกันทำให้เห็นว่า งานวิ่งที่ไม่มีขยะพลาสติก สามารถทำได้ครับ!”
ขอบคุณภรรยาสุดสวยที่มาวิ่งด้วยกัน ร่วมรณรงค์ลดโลกเลอะให้คนรอบข้างเราสองคนตระหนัก และเปลี่ยนพฤติกรรมการสร้างขยะไปด้วยกัน
ขอบคุณเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากมายหลายท่าน ที่มาร่วมสร้างประวัติศาสตร์งานวิ่งปลอดขยะด้วยกันในวันนี้ครับ
มาช่วยกันตะโกนต่อไปนะ
จนกว่าทุกคนจะได้ยินพวกเรา
#ลดโลกเลอะ
#RunYourCity
#NoPlasticRun
408 thoughts on “รีวิว | No Plastic Run งานวิ่งปลอดขยะ ไม่เป็นภาระโลก”
Comments are closed.