วันนี้ผมเห็นชายคนนึง
กำลังจะข้ามถนนไป Big C ฝั่งตรงข้าม
ทั้งที่สะพานลอยก็อยู่ห่างไปไม่กี่เมตร
“ข้ามถนนมักง่ายชิบหาย สะพานลอยก็อยู่บนหัว !!!”
เคยเป็นคำที่ผมใช้ด่าในใจ
ตอนเห็นคนข้ามถนนใต้สะพานลอยมาตลอด
จนกระทั่งไม่กี่ปีก่อนนี่เอง
ผมได้เปิดโลกแคบ ๆ ของตัวเอง จากการตั้งคำถาม
“สะพานลอย สร้างมาเพื่อใคร?”
ถ้าคิดแบบเร็ว ๆ ก็ตอบได้ทันทีเลย
เพื่อคนเดินเท้าสิ ปลอดภัย ไม่ถูกรถชนแน่ ๆ
ลดความเสี่ยงจากวิสัยทัศน์ที่ผิดพลาด
ทั้งจากฟากคนขับที่เลินเล่อ
และจากฟากคนข้ามที่มองไม่ดี กะความเร็วรถไม่ถูก
ได้จนเหลือ 0 เลย ไม่โดนชนแน่ ๆ
มันสร้างมาเพื่อความปลอดภัยขนาดนี้
คนที่ไม่ใช้ ก็คือ “คนมักง่าย” ที่ขี้เกียจขึ้นบันไดนั่นเอง
แต่ถ้าคิดแบบช้า ๆ ค่อย ๆ คิดให้รอบด้านมากขึ้น
คนเดินเท้ามีกี่ประเภท?
คนที่เดินขึ้นบันไดสูงขนาดนั้นไม่ไหว
คนพิการใช้รถเข็น
พวกเขานับเป็นคนเดินเท้าหรือไม่?
แล้วทำไมสะพานลอยช่วยเขาไม่ได้
ทั้งที่เงินในการสร้างสะพานลอย ก็มาจากภาษีเขา ???
ผมเริ่มตระหนักได้ว่า
สะพานลอยเป็น Solution ที่ผิดตั้งแต่ Mindset การออกแบบแล้ว เพราะมันไม่ได้ตอบโจทย์คนเดินเท้าเลย
แท้จริงแล้วมันตอบโจทย์คนใช้รถยนต์มากกว่า
ที่ไม่ต้องชะลอความเร็ว ไม่ต้องเหยียบเบรก
พ่อคุณแม่คุณ ผู้เปี่ยมไปด้วยบารมีค้ำจุน
มีเงิน มีรถ จงขับกันให้สบายใจในประเทศนี้เถิด
ผมเชื่อว่า Mindset แบบนี้ ส่งผลต่อทัศนคติคนขับรถส่วนใหญ่ ให้ไร้น้ำใจกับคนข้ามถนนเราจึงมีเคส รถชนคนบนทางม้าลายกันมากมาย
วันนี้ ชายคนนี้ ที่กำลังข้ามถนนไป Big C
ทำให้ผมยิ่งตระหนักกับ “สิทธิ์คนเดินเท้า”
ชายคนนี้อายุน่าจะ 70 ปีเป็นอย่างต่ำ
มาคนเดียว เดินด้วยไม้เท้า
ระยะก้าวของลุงสั้นมาก เหมือนไม่มีแรงจะก้าว
และแน่นอนว่า แต่ละก้าวของลุง
ก็ใช้เวลายาวนานกว่าคนมีแรงอย่างผมมาก
ลุงไม่มีการมองซ้ายมองขวา
ลุงค่อย ๆ ก้าวเดินลงถนนไปราวกับว่า
รถที่กำลังวิ่งด้วยความเร็วสูงบนถนนลาดพร้าวนั้น
ไม่อยู่ในสายตา …
ผม ที่กำลังจะเดินผ่านไป เพราะเราก็รีบไปทำธุระของเรา
หวาดเสียวจนปล่อยลุงไปเฉย ๆ ไม่ได้จริง ๆ
ผมรีบพุ่งออกไปกลางถนน โบกมือบอกให้รถหยุด
เพราะกลัวว่ากลางวันแดดจ้า ๆ คนขับจะมองไม่เห็นลุง
ผู้ซึ่งเดินช้าจนเหมือนอยู่กับที่
เมื่อเริ่มมีรถมองเห็นผม มองเห็นลุงแล้ว
ก็เริ่มกระพริบไฟฉุกเฉิน หยุดให้หลายคัน
ผมรีบประคองลุง พาลุงข้ามถนนไปให้เร็วขึ้น
ลุงไม่พูดอะไรทั้งนั้น สายตายังมองตรงไปที่ Big C
จนผมไม่แน่ใจว่า ลุงสติดีหรือเปล่า
เป็นอัลไซเมอร์เปล่า ดูไร้สติยังไงก็ไม่รู้
จนเราข้ามมาถึงอีกฝั่งของถนน
ลุงหันมาหาผม ยกมือไหว้
“ขอบคุณมากนะพ่อหนุ่ม”
ผมรับไหว้แทบไม่ทัน
ลุงไม่ได้เป็นอัลไซเมอร์
ลุงแค่โฟกัส ตั้งใจและพยายามมาก ๆ
ที่จะข้ามถนน เท่านั้นเอง
เหตุการณ์นี้ ทำให้ผมยิ่งตระหนักว่า
คนรุ่นเราควรทำบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนประเทศนี้จาก
“เมืองที่ออกแบบมาเพื่อคนบางกลุ่ม”
ให้เป็น “เมืองที่ออกแบบมาเพื่อทุกคน”
เพราะการที่ “ทุกคน”
จะมี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีนั้น
หวังจาก “น้ำใจ” มันคงไม่พอ