เครื่องปรับอากาศ หรือ แอร์ ที่คอนโดผมมี 2 ตัว เป็นขนาด 12,266.82 BTU ทั้งคู่ อยู่คอนโดนี้มาเข้าปีที่ 3 ผมล้างแอร์มาทั้งหมด 3 ครั้ง ใช้ช่างแอร์มา 3 ราย พบว่าช่างแต่ละคนพูดไม่เหมือนกันเลย แล้ว user ธรรมดาตาดำ ๆ จะเชื่อใคร ถึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อ โดนช่างแอร์ในตำนานเอาเปรียบ?
ใครมีเวลา ก็ค่อย ๆ อ่านที่ผมเล่าเรื่องตั้งแต่เจอช่างแอร์คนแรกไปจนคนสุดท้ายได้นะครับ สนุกไม่แพ้หนังฆาตกรรมในห้องปิดตาย (มรึงก็โปรโมทเว่อร์ไป) แต่ถ้าใครรีบ กระโดดไปอ่านที่ผมสรุปสุดท้ายได้เลย แค่สิบกว่าบรรทัด
…
ครั้งที่ 1
ผมเรียกช่างมาล้างแอร์ โดยหยิบโบรชัวร์จากห้องนิติบุคคล เพราะคิดว่าช่างแอร์ที่มาฝากโบรชัวร์ไว้ที่นิติฯ ต้องสะดวกที่จะมาบริการที่คอนโดนี้อยู่แล้ว ผมคิดแค่นี้ ไม่เรื่องมาก ลองโทรเรียกมาล้างเลย
ช่างจากบริษัท อ.จ.แอร์ (เซ็นเซอร์ชื่อด้วยอักษรภาษาไทยแทน) มาให้บริการ พูดคุยดีมาก ให้ความรู้ต่าง ๆ ดีมาก ๆ ค่าบริการก็ราคาตลาดทั่วไป
แต่หลังจากช่างวัดน้ำยาแอร์ให้ผมแล้ว พบว่าน้ำยาแอร์พร่องไม่เท่ากัน ตัวนึงขาด 30 ปอนด์ ตัวนึงขาด 70 ปอนด์ ช่างตั้งข้อสังเกตให้ว่า น้ำยาไม่ควรลดมากขนาด 70 ปอนด์ อาจจะมีการรั่วเกิดขึ้น สรุป ผมก็เติมไปให้ครบตามที่ช่างแนะนำแหละ แล้วรอดูปีหน้าว่า น้ำยาจะพร่องอีกไหม
- ล้างแอร์ 2 ตัว 800 บาท
- เติมน้ำยาแอร์ ปอนด์ละ 15 บาท (เติมไป 100 ปอนด์)
- รวม 2,300 บาท
…
ครั้งที่ 2
เรียกช่างคนเดิมมาล้างแอร์ให้อีก ครั้งนี้เริ่มชัด เพราะน้ำยาแอร์พร่องเหมือนเดิมเลยคือ 30 กับ 70 ปอนด์ ช่างเลยสรุปว่า ตัวที่ขาด 70 ปอนด์นั้น ต้องมีการรั่วแน่ ๆ ส่วน 30 ปอนด์อาจจะเป็นการซึมออกตามปกติได้ แม้ระบบน้ำยาแอร์จะเป็นระบบปิด ที่ไม่ควรมีน้ำยาพร่องเลยก็ตาม แต่ในชีวิตจริงบางครั้งมันอาจซึมออกตามข้อต่อต่าง ๆ ได้บ้าง วันละนิดละหน่อย
พอรู้ว่าแอร์รั่ว ผมเริ่มกังวล เพราะคอนโดผมไม่มีช่อง service เลย ท่อแอร์ก็ฝังอยู่ในฝ้า (เพดาน) แบบเนี๊ยบมาก เลยไม่รู้จะตรวจสอบยังไงว่ารั่วจากตรงไหน แต่ช่างก็ดีครับ เสนอว่าจะเอาเครื่องแอร์ตัวที่รั่วไปเช็คให้แบบละเอียดก่อน ถ้าไม่เจอจุดรั่วในตัวแอร์ ก็แปลว่ารั่วตามท่อ ผมก็เห็นด้วยกับไอเดียนี้ จึงให้ช่างถอดแอร์ไปเช็คให้ วันต่อมาช่างก็เอามาคืนพร้อมกันบอกว่าไม่เจอจุดรั่วในตัวเครื่องแอร์ สรุปว่า รั่วในท่อแอร์แน่ ๆ
ผมมี 2 ทางเลือกที่จะแก้ปัญหานี้
1. รื้อฝ้า แล้วตรวจหาจุดรั่วตามท่อ งานช้างมาก แต่จบปัญหาได้
2. ทนใช้ไปแบบนี้ ยอมจ่ายค่าน้ำยาแอร์ที่พร่องไปทุก ๆ ปี
ผมยังไม่อยากรื้อฝ้า จึงเลือกข้อ 2 ไปก่อน คิดว่าปีหน้าจะลองเปลี่ยนช่างดู เผื่อผลวินิจฉัยจะเปลี่ยนไป สรุปปีนี้ยังเสียเงินเท่าเดิม
- ล้างแอร์ 2 ตัว 800 บาท
- เติมน้ำยาแอร์ ปอนด์ละ 15 บาท (เติมไป 100 ปอนด์)
- รวม 2,300 บาท
…
ครั้งที่ 3
โลกเข้าสู่ Sharing Economy เต็มตัวแล้ว ในไทยเราก็มี app ชื่อ ServisHero เป็นตัวกลางระหว่างลูกค้ากับผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ เช่น ช่างไฟ ช่างประปา บริการขนส่งสินค้า ซักผ้า ย้ายบ้าน มีหมด แน่นอนว่ามีช่างแอร์ด้วย
ได้เวลาล้างแอร์พอดี และแอร์ผมตัวนึงก็เสียพอดี เป่าแต่ลม ไม่ม่ีความเย็น ผมจึงลองใช้ ServisHero โดยแจ้งความต้องการไปใน app ว่า ต้องการล้างแอร์ 2 เครื่อง แต่มีแอร์ตัวนึงมีแต่ลม ไม่มีความเย็น อยากให้ช่วยดูให้ด้วย ระบุที่อยู่ของผมไป จากนั้นก็มีช่างตอบรับ โดยส่งใบเสนอราคามาให้ผมเลือก มี 5-6 เจ้าเลยทีเดียว ผมนั่งไล่อ่านรีวิวของช่างแต่ละคนอย่างเมามัน สุดท้ายก็เลือก ช่างเอก (นามสมมติ) เพราะมีคนรีวิวว่าช่างเอกแนะนำและอธิบายดีมาก ๆ บวกกับช่างเอกแกมีจุดขายว่า ล้างแอร์ตัวละ 500 บาทพร้อมเติมน้ำยาให้ฟรี (ถ้าไม่ได้พร่องขนาดหมดเกลี้ยง) ซึ่งตอบโจทย์ผมมาก เพราะแอร์ผมรั่วต้องเติมน้ำยาอย่างต่ำ 70 ปอนด์อยู่แล้ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมา 2 ปี
พอเจอช่างเอก ผมก็เล่าความกังวลว่าท่อแอร์ผมอาจจะรั่ว ช่างเอกก็ตอบว่า ถ้ามีการรั่วจริง ท่อแอร์ผมอยู่บนฝ้า มันน่าจะเห็นรอยน้ำซึมบนฝ้า แต่นี่ไม่มี ก็ไม่น่ารั่ว แล้วพอลองวัดน้ำยาแอร์ผมดู ความน่าตื่นตาตื่นใจอยู่ตรงที่แกฟันธงให้ว่า
“แอร์พี่ไม่ได้รั่วนะ พี่โดนหลอกแล้ว!”
ผมนี่เสียววาบเลย โดนซะแล้วกรู นึกถึงตอนที่ให้ช่างถอดเครื่องแอร์ไปเช็คให้นั้น พี่เค้าแอบถอดอะไรจากเครื่องตรูไปด้วยเปล่าฟระ แต่ก็ปล่อยวาง ทำอะไรไม่ได้ จะย้อนกลับไปถาม ใครจะบอกล่ะว่า อ๋อ ตอนนั้นผมแอบถอดเอาอะไหล่เก่าใส่ให้พี่ แล้วเอาอะไหล่ใหม่ไปขายน่ะครับ จะบ้าเหรอ อะไรที่เราไม่มีทางรู้ความจริงได้ ก็ปล่อยวางครับ โลกยังไม่แตก
ช่างเอกบอกต่อว่า จากการที่คุยทางโทรศัพท์ พอรู้ว่าแอร์ผมเป็น Mitubishi Mr.Slim อายุประมาณ 3-4 ปี ก็เดาได้ทันทีว่าตัว capacitor ที่ใช้ run compressor นั้นเสีย (อุปกรณ์ตัวนี้มีชื่อเล่นว่า cap run) เพราะรุ่นนี้ขึ้นชื่อมาก เสียกันกระจาย ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้แอร์ไม่เย็น ช่างเอกก็จัดการเปลี่ยน cap run ให้ โดยบอกว่า ราคาอะไหล่ตัวนี้มีตั้งแต่ 200 จนถึงพันกว่าบาท แต่เพื่อความชัวร์ ช่างเลือกตัวที่คุณภาพดีที่สุดในตลาดมาให้แล้ว จะแพงหน่อย ราคา 1,500 บาท ผมก็ตกลงเปลี่ยนไป
สรุปค่าใช้จ่าย
- ล้างแอร์ 2 ตัว พร้อมเติมน้ำยา 1,000 บาท
- Run Capacitor 1,500 บาท
- รวม 2,500 บาท
แพงกว่าปีก่อน ๆ 200 บาท แต่ได้รู้ว่า โดนช่างแอร์หลอก เรื่องน้ำยารั่วมาสองปี และครั้งนี้แพงค่าอะไหล่ ไม่ใช่ค่าโง่จากน้ำยาแอร์ ก็น่าจะโอเค
…
ครั้งที่ 4
ผ่านมาแค่เดือนเดียว แอร์อีกตัวผมก็ไม่เย็น ทีนี้ผมพอจะเดาได้บ้างแล้วว่า อาจจะเป็น cap run นี่แหละ มันก็น่าจะเสียใกล้เคียงกัน เลยตั้งใจจะไปซื้อมาเปลี่ยนเอง ลองหาข้อมูลเพิ่มดูก็พบว่า cap run ที่ชาวเน็ทพูดถึงกันนั้นราคาแค่ 200-800 เอง ณ จุดนี้ก็มีแอบคิดนะครับว่า ถึงช่างเอกจะบวกค่ารถ ค่าเรือไปบ้าง แต่บวกเยอะไปไหมวะ? แต่ก็ปล่อยวาง คิดว่าเราก็ยังไม่รู้จริง ยี่ห้อที่ช่างเอกซื้อมาอาจจะราคาระดับท๊อป ราคาพันต้น ๆ ก็ได้ มาขายเรา 1,500 ยังพอรับไหว บวกนิดบวกหน่อยคนทำมาค้าขายต้องมีกำไรบ้าง อย่างน้อยเค้าก็เบิกเนตรให้เราเรื่องน้ำยาแอร์
แต่พอผมเปิดฝาคอยด์ร้อน (ตู้ compressor ด้านนอก) เห็นเขม่าดำ ๆ บนฝา และมีน้ำมันใส ๆ เยิ้ม ๆ ที่ผนังคอยล์ร้อนด้วย ก็เลยคิดว่า งานนี้ไม่น่าจะแค่เปลี่ยน cap run ละ มือสมัครเล่นอย่างเรารับมือไม่ไหวแน่ จึงตัดสินใจโทรเรียกช่างเอกมาช่วยดูดีกว่า
ช่างเอกมาดู ก็ตกใจ เอาตัว cap run มาให้ผมดูเลยว่า มันไม่ได้แค่เสียนะพี่ มันระเบิดเลย!
และนี่ก็คือสาเหตุของเขม่า และน้ำมันที่เยิ้มครับ มันออกมาจาก capacitor ที่ระเบิดนั่นแหละ
แต่หลังจากที่เช็คอยู่สักพัก เพราะช่างเอกกังวลว่า งานจะไม่จบแค่ cap ระเบิด แล้วช่างเอกก็แจ้งข่าวร้ายกับผมเพิ่มเติมว่า compressor ผมเสียด้วยครับ และอันนี้แหละเรื่องใหญ่ เปลี่ยนของใหม่ก็ราว ๆ 5,500 ของมือสองก็ราว ๆ 3,500 ผมมีทางเลือกแค่สองทางคือ มือ 1 หรือ มือ 2 เท่านั้น
ได้ยินดังนั้น พลังงานนักวิเคราะห์ในตัวเริ่มทำงาน (ภาษา Wealth Dynamics คือ พลัง Steel) ผมอยากหาข้อมูลดูก่อนว่า cap run ระเบิดนี่มันถึงกับทำให้ compressor เสียได้เลยเหรอ? จึงบอกช่างเอกไปว่า เดี๋ยวขอปรึกษา ผบ.ทบ. ก่อนนะ แล้วจะโทรไปบอกว่าเอาแบบไหน วันนี้ขอจ่ายเฉพาะค่าแรงที่มาดูอาการให้ไปก่อนเลย ช่างเอกคิด 200 บาท
ผมยื่นเงินให้ 300 กะจะทิปให้เพราะให้คำแนะนำต่าง ๆ ได้ดี ผมกรีดแบงค์แดงสามใบให้เห็นชัด ๆ ตอนยื่น เพื่อให้เค้าถาม จะได้บอกว่าทิป แต่ผิดคาดครับ ช่างมองแบงค์ร้อยสามใบแล้วตีมึนเก็บใส่กระเป๋าไปเงียบ ๆ เสมือนเป็นเจ้ามือกำลังกินเรียบรอบวง ผมเลยคิดว่า อาจจะต้องให้ช่างศูนย์มิตซูมาดูแบบจริงจังอีกทีดีกว่า ว่า compressor เสียจริงไหม
จากความเชื่อมือ เชื่อใจ กลายเป็นความหวาดระแวง นี่แหละครับ ความไม่ซื่อสัตย์เพียงเล็ก ๆ ก็เหมือนรูรั่วน้อย ๆ ของเรือ ไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ทำเรือใหญ่อับปางได้เหมือนกันนะครับ
…
ผมลองลงมาปรึกษาที่นิติบุคคลคอนโดดูว่า ทีมช่างประจำคอนโดเรา ดูแอร์เป็นไหม ปรากฏว่านอกจากเฮียจะดูเป็นแล้ว ยังมีอุปกรณ์ซ่อมแอร์ครบมืออีกด้วย โอ้ … มายบุดดา
ทีมช่างคอนโดขึ้นมาดูคอยล์ร้อนให้ผมอย่างละเอียด เอาเครื่องวัดมาเช็คขั้วต่าง ๆ ให้อย่างถี่ถ้วน จนสรุปว่า compressor ผมไม่เสียนะ ช่างก็เลยลองเอา cap run สำรองมาใส่เข้าไปเพื่อลองเปิดแอร์ดู ผลปรากฏว่า คอยล์ร้อนทำงานได้ และแอร์ในห้องผมก็เย็นแล้ว!
คอมเพรสเซอร์ ไม่เสีย!
คอมเพรสเซอร์ ไม่เสีย!
คอมเพรสเซอร์ ไม่เสีย!
ประโยคนี้มัน สหรัถ สังคปรีชา อยู่ในหัวผมหลายนาที
พอได้สติ ผมก็มีบทสรุปให้ตัวเองอยู่ 2 แบบ
1. ตัว cap ที่ช่างเอกเอามาลองนั้น บังเอิญเจ๊ง ช่างเอกจึงวินิจฉัยผิดว่าคอมเพรสเซอร์ผมเสีย
2. ช่างเอกจงใจสรุปว่าคอมเพรสเซอร์เสีย เพื่ออัพเกรดบริการและรายได้
ผมเลือกที่จะไม่หาคำตอบที่แท้จริงต่อ เพราะไม่ว่าจะเป็นข้อไหน ผมก็ไม่ใช้บริการช่างเอกอีกอยู่ดี เพราะผลงานมันขัดกับความจริง อดคิดไม่ได้ว่า ท่าทีที่คนมีต่อเงินนั้น บางครั้งมันก็อาจจะบ่งบอกอะไรบางอย่างได้จริง ๆ
สรุปแล้วผมก็แว๊นไปซื้อ cap run จากร้านแอร์ย่านสะพานควาย บอกเอาตัวที่ดีที่สุดเลย ไม่เกี่ยงราคา ผมได้มาหน้าตาเหมือนตัวที่ช่างเอกใส่ให้เด๊ะ ๆ
รวมภาษี 7% แล้ว รวมค่าขนส่งแล้ว รวมกำไรขายปลีกแล้ว รวม ๕ เหวอะไรหมดแล้ว
ราคา 250 บาท ขาดตัว …
ผมถามช่างคอนโดเรื่องน้ำยาแอร์ ว่าช่างแอร์เคยวัดให้ผมดูกับตาเลยนะว่ามันขาดตั้ง 70 ปอนด์ ช่างก็ให้ความรู้แก่ผมว่า ถ้าช่างแอร์จะวัดให้ดูว่าน้ำยาขาด เค้าอาจจะวัดจังหวะที่แอร์เริ่มทำงาน น้ำยาแอร์ถูกดันเข้าไปในท่อ ถ้าวัดตอนนี้จะทำให้เห็นว่าน้ำยาแอร์ขาด การวัดที่ถูกต้องควรจะวัดตอนเครื่องยังไม่ทำงาน หรือทำงานไปจนห้องเย็นดีแล้ว น้ำยากลับมาอยู่ในระดับปกติแล้ว
และช่างคอนโดเสริมเพิ่มเติมว่า ระดับความดันของน้ำยาแอร์นั้น ควรจะอยู่ที่ 70-75 PSIG (ปอนด์ต่อตารางนิ้วเกจ) ถ้าไม่ต่ำกว่า 70 PSIG ถือว่าแอร์ยังมีน้ำยาเพียงพอ แต่ของผมนั้น ช่างเอกใจดีเติมมาให้ที่ 83 ปริมาณและแรงน้ำยาที่มากเกินไป มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ก็ยิ่งทำงานหนักขึ้นตอนสตาร์ท และกินไฟมากขึ้นด้วย ช่างคอนโดจึงปล่อยน้ำยาออกให้เหลือประมาณ 75 PSIG
ครับ หลังจากหมดศรัทธากับช่างแอร์มาสองราย ผมเริ่ม research จริงจัง เพื่อสรุปความรู้ความเข้าใจพื้นฐานมาแบ่งปันกัน จะได้เป็นภูมิคุ้มกันช่างแอร์ในตำนานเบื้องต้นได้
ขั้นตอนการตรวจสอบเบื้องต้นเมื่อแอร์ไม่เย็น
1. เช็ครีโมทให้แน่ใจว่า ปรับเป็นโหมดความเย็นถูกต้องแล้ว (รูปเกล็ดหิมะ) บางคนปรับไปอยู่โหมดพัดลม ก็จะมีแต่ลม ไม่มีความเย็น
2. ออกไปดูที่คอยล์ร้อน มีองค์ประกอบหลัก 2 อย่าง คือ พัดลม กับ คอมเพรสเซอร์
3. เช็คก่อนว่าพัดลมหมุนไหม (รอสัก 5 นาที) – ถ้าพัดลมไม่หมุน cap run ของพัดลมอาจจะเสีย
4. ลองฟังเสียงหึ่ง ๆ ของ compressor หรือ สังเกตดูว่าลมจากพัดลม เป็นลมร้อนหรือเปล่า – ถ้าไม่มีเสียง หรือลมไม่ร้อน แปลว่า compressor ไม่ทำงาน น่าจะเป็น cap run เสีย ทำให้ compressor สตาร์ทไม่ติด หรือถ้าซวยมาก compressor ก็อาจจะเสีย (แต่โอกาส cap run เสียเยอะกว่ามาก ส่วน compressor นั้นอายุใช้งานเป็นสิบปีครับ ไม่เสียง่าย ๆ)
5. น้ำยาแอร์เป็นระบบปิด ถ้าไม่รั่วก็ไม่จำเป็นต้องเติมทุกปี และถ้าใครโดนให้เติมน้ำยาเยอะ ๆ แล้วคิดตังค์แยะ ๆ เป็นประจำอย่างผม สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีบางอย่างผิดปกติ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าท่อน้ำยาแอร์เราไม่รั่ว ก็ตัวช่างแอร์นั่นแหละทัศนคติรั่ว
วิธีดูแลรักษาแอร์เบื้องต้น
1. ถอดฟิลเตอร์แอร์ที่คอยล์เย็น (เครื่องแอร์) มาล้างได้เอง 1-2 เดือนครั้ง เพื่อกำจัดฝุ่นออก ทำให้แอร์ดูดอากาศร้อนออกไปภายนอกได้ดีขึ้น ยืดอายุการทำงาน compressor ได้
2. ล้างแอร์โดยช่างแอร์ ทำปีละครั้งก็ได้
…
สุดท้ายผมแนะนำ blog ช่างแอร์ Kanichikoong มีความรู้เกี่ยวกับแอร์แทบจะทุกอย่าง ละเอียดมาก และอธิบายเข้าใจง่ายมาก ๆ เป็นความรู้เอาไว้ป้องกันตัวจากช่างแอร์นอกตำนาน (ตัวเป็น ๆ) ได้ครับ
สุดยอดครับ ขอบคุณมากสำหรับความรู้ กำลังศึกษาเพื่อซ่อมเองเหมือนกันครับ
ข้อมูลสรุปได้ดีอ่านเข้าใจง่ายมากครับ ขอเพิ่มเติมนะครับการวัดแรงดันน้ำสารทำความเย็นตอนเครื่องไม่ทำงานจะไม่สามารถวัดได้ และเป็นอันตรายต่อผู้วัดด้วย เนื่องจากคอมเพรสเซ่อร์ยังไม่ออกตัวเข็มวัดจะตีสุดเสกลเลยครับที่ถูกต้องจะต้องวัดหลังจากเครื่องทำงานเกิน 10 นาที แรงดันในระบบคงที่แล้ว ตามที่กล่าวมาช่วงหลังครับ การที่เห็นว่าแรงดันน้ำยาต่ำอาจจากช่างลักไก่เช็คแรงดันตอนที่เพิ่งล้างเสร็จ คอยล์ยังเปียก (อุนหภูมิลดความดันลด) อ่านความดันได้น้อยกว่าความเป็นจริง ที่ถูกต้องควรรอให้เครื่องทำงานจนคอยล์แห้งสภาวะทำงรนปกติ หรือทำการตรวจเช็คระบบก่อนที่จะล้าง ถ้าจะทำการซ่อมด้วยตนเองอย่าลืมตัดไฟจากเบรกเกอร์ทุกครั้ง
ขอบคุณมากครับ เข้าใจลึกขึ้นเลย จะเป็นประโยชน์กับคนที่ google เจอบทความนี้อีกมากฮะ 😀